ความล้าของกล้ามเนื้อ ( Muscular fatigue )
         จากการทดลองในคน โดยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อขาเพื่อให้กล้ามเนื้อนั้นหดตัวและยกน้ำหนักขึ้นลงหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปหลายวินาทีก็พบว่า
         - ความสูงในการยกขาขึ้นนั้นลดลง
         - ช่วงการหดตัวและการคลายตัวของกล้ามเนื้อช้าลง
         - ระยะเวลาในการตอบสนองต่อสิ่งเร้านานขึ้น

         ผลการทดลองเช่นนี้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกันในกล้ามเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กล่าวคือผลการทำงานของกล้ามเนื้อจะลดลงเมื่อกล้ามเนื้อนั้นเกิดความล้า จนในที่สุดก็จะไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ในมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะกระตุ้นด้วยไฟฟ้าที่เส้นใยประสาทหรือที่กล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อนั้นหดตัวหรือให้หดเกร็งกล้ามเนื้อนั้นเป็นจังหวะด้วยความตั้งใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเกิดผลเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้ว
         ผลการทำงาน ( performance ) ของกล้ามเนื้อที่ลดลงหลังจากเกิดความเค้นที่กล้ามเนื้อนั้นในเชิงสรีรวิทยาเรียกว่า “ ความล้าของกล้ามเนื้อ “ และผลนั้นไม่ได้แสดงออกโดยกล้ามเนื้อมีกำลังลดลงเท่านั้น แต่ยังทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลดลงไปด้วย ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงานและเพิ่มอุบัติเหตุขึ้นได้

ความล้าทั่วไป ( General fatigue )
         ลักษณะอาการของความล้าประเภทนี้ เป็นความรู้สึกอ่อนล้าหมดแรงทั่วร่างกาย จะรู้สึกเหมือนถูกยับยั้งให้ทำกิจกรรมได้น้อยลงหรือทำได้ไม่เต็มที่ โดยไม่อยากใช้ความพยายามทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ทำให้รู้สึกตัวหนักและง่วงนอน
         ความรู้สึกอ่อนล้าหมดแรงนั้น คล้าย ๆ กับความรู้สึกกระหายน้ำหรือหิว ซึ่งเป็นกลวิธานการป้องกันตนเองโดยธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าสามารถพักได้เมื่อรู้สึกอ่อนล้า ร่างกายก็จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถหยุดพักหรือผ่อนคลายได้ก็อาจส่งผลต่อร่างกายและการงานได้ในที่สุด ดังนั้นความรู้สึกอ่อนล้าจึงเป็นสัญญาณให้ทราบว่าไม่ควรทำงานต่อไป ควรจะได้หยุดพักเพื่อให้เวลากับร่างกายในการฟื้นตัวขึ้น
เอกสารอ้างอิง
นริศ เจริญพร. การยศาสตร์. กรุงเทพฯ: ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.
สสิธร เทพตระการพร. เอกสารการอบรมการยศาสตร์. กรุงเทพฯ: บริษัท ริชเทค บิสซิเนส จำกัด, 2546.