การยกและเคลื่อนย้ายอย่างถูกต้องเหมาะสม
         หากต้องการวางสิ่งของขึ้นสูงกว่าระดับไหล่ ควรวางเท้าในตำแหน่งของการเดิน ขั้นแรกให้ยกสิ่งของขึ้นสูงระดับอก ต่อจากนั้นให้ผลักดันสิ่งของขึ้นโดยขยับเท้าออกไปเพื่อให้มีการเคลื่อนที่ของสิ่งของ แล้วจึงเลื่อนน้ำหนักตัวไปยังเท้าหน้า สำหรับคนทั่วไปส่วนใหญ่ ระดับความสูงที่เหมาะสมในการยกเคลื่อนย้าย จะประมาณ 70 ถึง 80 เซนติเมตร ซึ่งในการยกเคลื่อนย้ายสิ่งของจากพื้น บางครั้งอาจต้องใช้กำลังมากเป็นสามเท่า
          ผู้ที่ทำหน้าที่ในการยกเคลื่อนย้ายสิ่งของร่วมกัน ควรจะมีความแข็งแรงพอ ๆ กัน และได้ผ่านการฝึกปฏิบัติในการยกเคลื่อนย้ายสิ่งของร่วมกัน ซึ่งในการยกเคลื่อนย้ายควรยกขึ้นพร้อม ๆ กัน และใช้ความเร็วในการยกเท่า ๆ กัน
         ข้อแนะนำในการยกเคลื่อนย้ายน้ำหนักสูงสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีดังนี้
         ผู้ชาย : ……55 กิโลกรัม ในกรณียกเป็นครั้งคราว และ......35 กิโลกรัม ในกรณียกซ้ำ ๆ
         ผู้หญิง : ……30 กิโลกรัม ในกรณียกเป็นครั้งคราว และ......20 กิโลกรัม ในกรณียกซ้ำ ๆ

 
         ในการยกถือสิ่งของ ส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบคือบริเวณคอด้านหลังและแขนส่วนบน หัวใจและระบบการไหลเวียนของโลหิต ควรยกถือให้ใกล้ลำตัวให้มากที่สุด นอกจากนั้น ควรพยายามให้สิ่งของที่ยกถือและตัวผู้ยกถืออยู่ในสภาพที่สมดุลด้วย วัตถุที่มีรูปทรงกลม จะทำให้ยากต่อการจับถือ ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำหนักของวัตถุอยู่ไกลจากตัวผู้ยก การมีที่จับและหูหิ้วที่ดีจะช่วยให้ทำงานได้ง่ายมากขึ้นและยังมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นด้วย ควรกระจายน้ำหนักไปยังแขนทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน
         การยกถือ ต้องมีการใช้กำลังมาก ดังนั้น ควรตรวจสอบก่อนว่าจะสามารถยกเคลื่อนย้ายโดยใช้สายพาน หรือรถเข็นได้หรือไม่ จงแน่ใจว่า ไม่ควรพยายามยกเคลื่อนย้ายสิ่งของที่น้ำหนักมากโดยลำพัง ควรมีที่จับถือสิ่งของและให้ที่จับถืออยู่ในระยะที่เหมาะสม จัดให้มีเนื้อที่ว่างมากพอในการยกเคลื่อนย้าย พื้นจะต้องไม่ลื่น ไม่มีสิ่งใดกีดขวางทางและมีแสงสว่างเพียงพอ นอกจากนี้แล้ว ขั้นบันได ประตู และทางลาดเอียง ล้วนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงควรมีการออกแบบเป็นอย่างดี

         เสื้อผ้าที่พนักงานสวมใส่ ควรสัมพันธ์กับอุณหภูมิของอากาศในสิ่งแวดล้อมการทำงานนั้น ๆ และความร้อนที่เกิดขึ้นจากภายในร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น จึงไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมมากเกินไป หรือยาวเกินไป หรือรุ่มร่ามจนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ควรสวมใส่ถุงมือเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับมือและช่วยในการจับยึด ควรสวมใส่รองเท้าที่แข็งแรงทนทาน พื้นไม่ลื่นและมีส้นรองเท้ากว้าง สามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งของหล่นทับ ในกรณีที่ใช้เครื่องจักรกลในการยกเคลื่อนย้าย จำเป็นต้องสวมใส่หมวกนิรภัย ซึ่งควรกระชับแน่นพอดีกับศีรษะ เพื่อจะได้ไม่หล่นจากศีรษะได้ง่าย และจะต้องไม่บดบังการมองเห็น การใช้เข็มขัดช่วยพยุงหลังที่กว้างอาจช่วยได้บ้าง
         การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการยกเคลื่อนย้าย จะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ซึ่งเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ควรมีน้ำหนักเบาและง่ายต่อการใช้งาน เพื่อลดการออกแรง และการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
เอกสารอ้างอิง
รัตนาภรณ์ อมรรัตนไพจิตร และสุดธิดา กรุงไกรวงศ์. การยศาสตร์ในสถานที่ทำงาน. กรุงเทพฯ : บริษัท เรียงสาม กราฟฟิค ดีไซน์ จำกัด, 2544.