อาการของความล้า
         พนักงานมักจะถูกบังคับให้ต้องทำงานในสถานทำงานที่ไม่ได้มีการออกแบบงานให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่การได้รับบาดเจ็บที่รุนแรงที่บริเวณมือ ข้อมือ หลัง หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากการทำงานต่อไปนี้
         • การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความสั่นสะเทือนซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
         • การใช้เครื่องมือและลักษณะงานที่ต้องบิดข้อมือหรือข้อต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการเคลื่อนไหว
         • การออกแรงทำงานด้วยอิริยาบถท่าทางการทำงานที่ฝืนธรรมชาติ
         • การทำงานที่ก่อให้เกิดแรงกดที่มากเกินไปบริเวณมือ ข้อมือ ข้อต่อส่วนต่าง ๆ และหลัง
         • การทำงานที่ต้องเอื้อมสุดแขน หรือยกแขนขึ้นสูงเหนือศีรษะ
         • การทำงานที่ต้องก้มหลัง
         • การทำงานที่ต้องออกแรงยก หรือผลักดันสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก

         การบาดเจ็บและเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการออกแบบเครื่องมือและหน่วยที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม มักจะเป็นอาการที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นเดือน หรือเป็นปี อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วพนักงานจะรู้สึกว่ามีสัญญาณและอาการบางอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติเกิดขึ้นก่อนเป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานอาจรู้สึกว่าเกิดความไม่สะดวกสบายในการทำงาน หรือรู้สึกเจ็บปวดกล้ามเนื้อ หรือข้อต่อ รวมทั้งอาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังจากเลิกงานแล้วกลับบ้านอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสืบสวนหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรกที่รู้สึกว่ามีความไม่สะดวกสบายเกิดขึ้น ในหลาย ๆ กรณี อาจนำไปสู่การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ต่อไปในอนาคต
         ตารางต่อไปนี้ เป็นตารางอธิบายการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากการทำงานซ้ำซากจำเจ หรือเป็นลักษณะงานที่มีการออกแบบอย่างไม่เหมาะสมที่สามารถพบเห็นได้บ่อย ซึ่งพนักงานจำเป็นที่ต้องได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้มีการนำหลักการพื้นฐานการยศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน
การบาดเจ็บ
อาการ
สาเหตุ
Bursitis : เกิดการอักเสบของ bursa ( ลักษณะคล้ายถุง ) ระหว่างผิวหนังและกระดูกหรือกระดูกและเส้นเอ็น สามารถเกิดได้ที่หัวเข่าเรียก beat knee ที่ข้อศอกเรียก beat elbow และที่หัวไหล่เรียก frozen shoulder ปวดและบวมบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ การคุกเข่า การเกิดแรงกดที่ข้อศอก การเคลื่อนไหวไหล่ซ้ำ ๆ
Carpal tunnel syndrome : เกิดแรงกดบนเส้นประสาทที่ผ่านข้อมือ รู้สึกชา ปวดและหมดความรู้สึกบริเวณนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วมืออื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืน การทำงานที่ต้องบิดข้อมือซ้ำ ๆ การใช้เครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือน บางครั้งอาจตามด้วยการเกิดปลอกเอ็นอักเสบ Tenosynovitis
Cellulitis : เกิดการติดเชื้อโรคของฝ่ามือแล้วตามด้วยแผลถลอกซ้ำ ๆ เรียก beat hand ปวดและบวมบริเวณฝ่ามือ การใช้เครื่องมือ เช่น ค้อน และพลั่ว การขัดถูฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก
Epicondylitis : เกิดการอักเสบที่บริเวณกระดูกและเส้นเอ็นมาเชื่อมต่อกัน หากเกิดที่บริเวณข้อศอกเรียก tennis elbow ปวดและบวมบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นบริเวณที่กระดูกและเอ็นเชื่อมต่อกัน แล้วเกิดการอักเสบ การทำงานซ้ำซากจำเจซึ่งมักเป็นงานที่ต้องใช้กำลังมาก เช่น งานช่างไม้ งานปูน งานก่ออิฐ
Ganglion : เกิด Cyst ที่ข้อต่อหรือปลอกเอ็น ปกติมักจะเกิดที่หลังมือหรือข้อมือ เกิดถุง Cyst แข็ง เล็กและบวมกลม ปกติจะไม่เจ็บ โดยทั่วไปจะเกิดบริเวณหลังมือและข้อมือ การเคลื่อนไหวมือซ้ำ ๆ
Osteo – arthritis : เกิดการเสื่อมของข้อต่อ เป็นผลจากการเกิดแผลเป็นที่ข้อต่อและการงอกของกระดูก มีอาการแข็งทื่อ และปวดที่กระดูกสันหลัง คอ และข้อต่อต่าง ๆ การทำงานที่ต้องออกแรงบริเวณกระดูกสันหลัง และข้อต่อต่าง ๆ มากเกินกำลังเป็นระยะเวลานาน
Tendonitis ( เอ็นอักเสบ ) : เกิดการอักเสบขึ้นในบริเวณที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมาเชื่อมต่อกัน ปวด บวม มีความไวอย่างผิดปกติต่อการกดหรือสัมผัส และแดงที่บริเวณมือ ข้อมือ และ/หรือปลายแขน มีความยากลำบากในการใช้มือ การเคลื่อนไหวซ้ำซากจำเจ
Tenosynovitis : เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและ/หรือปลอกเอ็น ปวด มีความไวอย่างผิดปกติต่อการกดหรือสัมผัส บวมและเจ็บปวดอย่างมาก มีความยากลำบากในการใช้มือ การเคลื่อนไหวซ้ำซากจำเจ ซึ่งไม่ต้องออกแรงมากนัก อาการที่เกิดขึ้นจากการที่มีการเพิ่มการออกแรงในทันที หรือมีการนำขบวนการผลิตใหม่ ๆ มาใช้
Tension neck หรือ shoulder : เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่คอ เกิดการอักเสบที่เอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ ทำให้ปวดบริเวณคอ และไหล่ การที่ต้องพยายามรักษาอิริยาบถท่าทางการทำงานให้อยู่ในท่าเดิม
Trigger finger : เกิดการอักเสบของเส้นเอ็น และ/หรือปลอกเอ็นของนิ้วมือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้คล่อง อาจมีหรือไม่มีอาการปวด การเคลื่อนไหวซ้ำซากจำเจ การใช้เครื่องมือที่มีด้ามจับยาวเกินไป การจับที่แน่นเกินไป หรือมีการใช้งานบ่อยมาก
         การทำงานซ้ำซากจำเจ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเจ็บป่วยของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก การบาดเจ็บ การเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานซ้ำซากจำเจ ( Repetitive Strain Injuries หรือ RSI ) นี้ จะก่อให้เกิดการเจ็บปวดอย่างมาก และสามารถทำให้เกิดการทุพพลภาพได้อย่างถาวร โดยในระยะเริ่มแรกของการเกิด RSI นั้น พนักงานอาจเพียงแค่รู้สึกเจ็บปวดและปวดเมื่อยเท่านั้นในช่วงหลังเลิกงาน แต่ในระยะต่อมาอาจเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงและเกิดผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอาการอย่างถาวร และยังเป็นประเด็นที่ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานต่อไปได้ การป้องกันมิให้เกิดอาการ RSI สามารถดำเนินการได้โดย
         • ขจัดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน
         • ลดความเร็วของช่วงจังหวะการทำงาน
         • โยกย้ายพนักงานให้ไปทำงานอื่น หรือให้ทำงานสลับกับงานที่ไม่ซ้ำซากจำเจ
         • เพิ่มจำนวนเวลาการหยุดพักให้มากขึ้นสำหรับงานที่ต้องทำซ้ำซากจำเจ
เอกสารอ้างอิง
รัตนาภรณ์ อมรรัตนไพจิตร และสุดธิดา กรุงไกรวงศ์. การยศาสตร์ในสถานที่ทำงาน. กรุงเทพฯ : บริษัท เรียงสาม กราฟฟิค ดีไซน์ จำกัด, 2544.