การออกแบบงานนั่งและเก้าอี้นั่งทำงาน
งานนั่ง
         ถ้างานที่ทำเป็นงานที่ไม่ต้องการยืดเหยียดร่างกายมากและสามารถทำได้ในเนื้อที่จำกัด งานดังกล่าวก็ควรเป็นงานที่นั่งทำงาน
หมายเหตุ : การนั่งตลอดทั้งวัน เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของหลัง ดังนั้นจึงควรมีการทำงานที่หลากหลาย เพื่อให้พนักงานจะได้ไม่ต้องอยู่ในอิริยาบถท่านั่งทำงานแต่เพียงท่าเดียว การจัดให้มีเก้าอี้นั่งที่ดีก็เป็นสิ่งจำเป็นในการนั่งทำงาน ซึ่งควรเป็นเก้าอี้นั่งที่พนักงานสามารถขยับขาได้ และนั่งทำงานปกติได้อย่างสบาย
         ข้อแนะนำเกี่ยวกับการยศาสตร์บางประการสำหรับงานนั่งทำงาน
         • พนักงานควรสามารถเอื้อมถึงบริเวณเนื้องานได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องเอื้อมสุดแขน หรือบิดเอี่ยวตัวโดยไม่จำเป็น
         • อิริยาบถท่านั่งที่ดี หมายถึงการที่พนักงานสามารถนั่งอยู่ทางด้านหน้าของเนื้องาน และใกล้กับเนื้องาน
         • ควรมีการออกแบบเก้าอี้นั่งและโต๊ะงาน เพื่อให้พื้นหน้างานอยู่ในระดับความสูงประมาณข้อศอก
         • ส่วนของหลัง ควรอยู่ในแนวตรงและปล่อยไหล่ตามสบาย ไม่เกร็ง
         • หากทำได้ ควรจัดให้มีที่รองรับข้อศอก ปลายแขนหรือข้อมือที่สามารถปรับระดับได้

         ควรจัดให้มีอิริยาบถท่าทางการทำงานที่สะดวกสบายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลูกศรชี้บริเวณที่มีความจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น ในการปรับปรุงอิริยาบถท่านั่งสำหรับพนักงาน ในภาพด้านขวา ควรลดระดับความสูงของเก้าอี้ให้ต่ำลง ให้ที่นั่งด้านหน้าเอียงลงเล็กน้อย และควรจัดให้มีที่ว่างพักเท้า

เก้าอี้นั่งทำงาน
         เก้าอี้นั่งที่ดีควรเป็นไปตามข้อกำหนดทางด้านการยศาสตร์ ข้อแนะนำในการเลือกเก้าอี้นั่งมีดังนี้
         • เก้าอี้นั่งทำงาน ควรมีความเหมาะสมสำหรับงานที่ต้องปฏิบัติ รวมทั้งระดับความสูงของโต๊ะงาน
         • เก้าอี้นั่งและพนักพิงหลังควรให้สามารถปรับระดับความสูงแยกกันได้ โดยให้พนักพิงหลังสามารถปรับความเอียงได้ด้วย
         • เก้าอี้นั่งควรเป็นแบบที่ให้พนักงานสามารถปรับเอนไปข้างหน้า – หลังได้ง่าย
         • ควรให้มีเนื้อที่ว่างใต้โต๊ะอย่างเพียงพอสำหรับวางขาของพนักงาน และควรให้สามารถขยับขาได้ง่าย
         • ควรให้เท้าวางราบบนพื้น หากทำไม่ได้ ควรจัดให้มีที่วางพักเท้า ซึ่งที่วางพักเท้าจะช่วยลดแรงกดที่เกิดขึ้นที่ด้านหลังของขาอ่อนและเข่า
         • เก้าอี้ควรมีพนักพิงหลัง เพื่อพยุงหลังส่วนล่าง
         • ด้านหน้าตรงขอบเก้าอี้ควรให้โค้งมนลงเล็กน้อย
         • หากเป็นไปได้ ควรให้ที่วางพักแขนสามารถถอดออกได้ เมื่อพนักงานพบว่าเกิดความรู้สึกไม่สะดวกสบายเนื่องจากในบางกรณี ที่วางพักแขนจะทำให้พนักงานไม่สามารถเข้าใกล้โต๊ะงานได้
         • ควรหุ้มเก้าอี้ด้วยเนื้อผ้าที่ยอมให้อากาศไหลผ่านได้ง่าย เพื่อป้องกันการลื่นออกจากเก้าอี้ในขณะนั่ง

ในงานบางอย่าง ที่วางพักแขน จะช่วยลดความเมื่อยล้าของแขนได้
เอกสารอ้างอิง
รัตนาภรณ์ อมรรัตนไพจิตร และสุดธิดา กรุงไกรวงศ์. การยศาสตร์ในสถานที่ทำงาน. กรุงเทพฯ : บริษัท เรียงสาม กราฟฟิค ดีไซน์ จำกัด, 2544.